Thailand Hub of Talents in Cancer Immunotherapy (TTCI Thailand)

โรคมะเร็งเป็นโรคที่มีความสำคัญมากโดยเฉพาะยิ่งเมื่อประชากรอายุยืนขึ้น การรักษาโรคมะเร็งแม้ว่ามีวิธีการรักษาหลายอย่าง เช่น การผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด และการฉายแสง แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่มีวิธีไหนที่รักษาให้หายขาดได้ และมีผลข้างเคียงทั้งในระยะสั้น และระยะยาวสูงมาก ดังนั้นการวิจัยเพื่อให้ได้วิธีการรักษาแบบใหม่ที่ช่วยเพิ่มโอกาสใน การรักษาให้หายขาดและเป็นวิธีการรักษาที่มีผลข้างเคียงลดลงจึงมีความจำเป็นอย่างสูง
การวิจัยพัฒนารักษาโรคมะเร็งในยุคปัจจุบันมุ่งเน้นไปสู่การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (immunotherapy) เนื่องจากเป็นวิธีการสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง และความมีจำเพาะต่อโมเลกุล เป้าหมายในเซลล์มะเร็งแต่ละชนิด โดยการรักษาด้วยวิธีนี้ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันถูกกระตุ้น ผ่านกระบวนการพิเศษ ทำให้มีความสามารถในการจดจำและทำลายเซลล์มะเร็งที่เป็น เป้าหมายได้อย่างจำเพาะโดยไม่ส่งผลต่อเซลล์ปกติในร่างกาย ทำให้ได้ผลในการรักษาอย่างมี ประสิทธิภาพและมีผลข้างเคียงน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับวิธีการรักษาแบบเก่า
การรักษาโรคมะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด มีหลายแนวทาง ประกอบด้วย 1. การรักษาด้วยเซลล์บำบัด 2. การรักษาด้วยแอนติบอดี และ 3. การรักษาด้วยวัคซีนต่อต้านมะเร็ง เป็นต้น
อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยเซลล์บำบัดโดยเฉพาะการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโดยระบบพันธุวิศวกรรมเซลล์ภูมิคุ้มกันมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและในปัจจุบันมีการนำมาใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งของระบบโลหิตได้แล้วเป็นหนึ่งในการรักษาแบบมาตรฐานในประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยใช้ได้ผลดีมากในผู้ป่วยที่ไม่มีทางเลือกอื่น ทำให้มีความสนใจนำความสำเร็จนี้มาพัฒนาต่อเนื่องเพื่อใช้รักษาโรคมะเร็งได้เพิ่มขึ้น ทั้งเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มชนิดของโรคมะเร็งที่สามารถนำการรักษาชนิดนี้ไปใช้ได้ รวมทั้งการศึกษาวิจัยเพื่อลดผลข้างเคียงและลดกระบวนการที่ซับซ้อนและลดต้นทุนการผลิต
นอกจากนี้ยังสามารถขยายการวิจัยเพื่อนำไปประยุกต์ใช้รักษาโรคอื่นๆเช่น โรค Primary Immunodeficiency และ Autoimmune diseases ได้ด้วย การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดที่มีประสิทธิภาพสูงเช่นนี้มีค่าใช้จ่ายสูงมากและในปัจจุบันประชากรไทยยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ได้ในประเทศเลย จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาให้เกิดขึ้นในประเทศไทย แบบเป็นการบริการในโรงพยาบาล (Hospital Use Service) และถ้าเป็นไปได้ยังสามารถร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ Advanced Therapeutics Medicinal Product (ATMP) เพื่อจำหน่ายได้ด้วย 
ในปัจจุบันประเทศไทยมีนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญในด้านอณูชีววิทยา ภูมิคุ้มกันวิทยา แพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งด้วยเซลล์ เช่นจาก hematological stem cells และ CAR T cells มีการริเริ่มลงทุนสร้าง facility และสร้างบุคลากรในโรงเรียนแพทย์ต่างๆ ประเทศไทยจึงมีความพร้อมที่จะพัฒนาการวิจัยและการบริการให้การรักษาด้วย Cell Engineering สำหรับภูมิคุ้มกันบำบัดได้ และยังมีศักยภาพที่จะเปิดบริการเป็น Medical Hub สำหรับประชากรจากต่างประเทศอีกด้วย
การจัดตั้งศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันบำบัดแห่งประเทศครั้งนี้จะเป็นการรวบรวมผู้เชี่ยวชาญทั้งหมดของประเทศให้เป็นระบบ สร้างบรรยากาศการร่วมมือผ่านการนำเสนอผลงานวิจัยของแต่ละสถาบันร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ ขอทุนวิจัยภายนอกร่วมกันเพิ่มเติม เพื่อเสริมการทำงานของแต่ละสถาบันให้มีความคล่องตัวและสามารถดึงดูด Talents มาร่วมทีมมากยิ่งขึ้น และเพื่อนำไปสู่การทำวิจัยร่วมกันมากขึ้นโดยใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญของแต่ละแห่ง ทำหน้าที่เชื่อมโยงทีมวิจัยเข้าด้วยกันเป็น Network และตั้งกองทุนสนับสนุนทุนวิจัยที่เพียงพอให้ทีมวิจัย โดยเฉพาะเพื่อผลักดันงานวิจัยไปสู่การวิจัยทางคลินิกแบบสหสถาบันและนำไปสู่การรักษาโดยเร็ว  
สำหรับประเทศไทยซึ่งยังมีทรัพยากรจำกัดจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะมีการสร้างเครือข่ายนี้ขึ้น อย่างไรก็ตามยังคงความเป็นอิสระและการแข่งขันแบบสร้างสรรค์เพื่อสร้างนวัตกรรมของแต่ละสถาบัน ทำการประชาสัมพันธ์สู่นานาชาติร่วมกันเพื่อเผยแพร่ความก้าวหน้าในระดับประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการให้บริการผู้ป่วยมะเร็งในประเทศและภูมิภาคอาเซียนเพื่อลดอัตราป่วยและอัตราตาย ก่อให้เกิด Health Equity ลดการนำเข้ายารักษาโรคแบบภูมิคุ้มกันบำบัดจากต่างประเทศและมุ่งสู่สร้างนวัตกรรมสำหรับการรักษาโรคมะเร็ง ให้บริการเป็น Medical Hubs ซึ่งมีมูลค่ามหาศาลในอนาคต 

วิสัยทัศน์และพันธกิจ

"ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งแห่งประเทศไทยถูกตั้งขึ้นในเดือนเมษายน พ.ศ.2566 โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการวิจัยด้านการรักษาโรคมะเร็งทั้งในห้องปฏิบัติการและการวิจัยทางคลินิก โดยเน้นการพัฒนาภูมิคุ้มกันบำบัดในโรงพยาบาลเพื่อให้เกิดการใช้งานจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ"

วัตถุประสงค์

เป็นศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งของประเทศไทย โดยเน้นด้านเซลล์บำบัด วิศวกรรมเซลล์และวัคซีนรักษามะเร็ง
ส่งเสริมการเชื่อมโยงงานวิจัยระหว่างนักวิทยาศาสตร์และแพทย์เพื่อนำไปสู่การศึกษาทางคลินิกโดยเร็ว
ส่งเสริมการสร้างระบบและมาตรฐานเพื่อการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งในโรงพยาบาล
เพิ่ม visibility ของงานวิจัยด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งของประเทศไทยให้ไปสู่ระดับโลก
สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงงานวิจัยด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งกับสถาบันระดับโลก

ออกแบบโลโก้

โลโก้ออกแบบโดยใช้แนวคิดความร่วมมือระหว่างนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันต่างๆ โดยเน้นการวิจัยเกี่ยวกับการรักษาโรคมะเร็ง
จุดศูนย์กลางแสดงถึงเซลล์มะเร็ง ขาของจุดนี้ได้รับการออกแบบให้หมุนเป็นวงกลม เป็นสัญลักษณ์ของการสื่อสารและศูนย์รวมแห่งความสามัคคี
วงกลมที่หมุนได้แสดงถึงเซลล์ภูมิคุ้มกัน ใช้เฉดสีฟ้า สื่อถึงความน่าเชื่อถือ ความแข็งแกร่ง ความซื่อสัตย์ ความจริงใจ
การเคลื่อนที่เป็นวงกลมยังหมายถึงการแก้ปัญหา ซึ่งเป็นกระบวนการบางอย่างในกรณีนี้ เพื่อวัตถุประสงค์ในการวิจัยโรคมะเร็ง

การใช้โลโก้